FAQ: วิชาวิทยาการคำนวณ จะเพิ่มความเหลื่อมล้ำหรือไม่? ผู้ออกแบบหลักสูตรนึกถึงโรงเรียนห่างไกลบ้างหรือเปล่า?

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นสิ่งที่ควรแก้ไขโดยเร่งด่วน การพิจารณาว่าหลักสูตรนี้จะทำให้ความเหลื่อมล้ำมากขึ้นหรือน้อยลง เป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง

ในหลักสูตรเก่าที่เน้นการสอนคอมพิวเตอร์เป็นเสมือนอาชีพหนึ่ง จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียนการสอนเกือบจะทั้งหลักสูตร แต่ในหลักสูตรใหม่เราสอนในลักษณะของวิทยาศาสตร์ เน้นกระบวนการคิดมากกว่ารายละเอียดทางเทคนิค การสอน coding มีส่วนที่ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้น ดังนั้น ในแง่นี้ หลักสูตรใหม่ก็มีความเหลื่อมล้ำน้อยกว่าหลักสูตรเก่าเสียอีก

แต่ แน่นอนครับ ความเหลื่อมล้ำยังคงมีอยู่ โรงเรียนทุกโรงเรียนควรมีคอมพิวเตอร์เพียงพอ มีครูเพียงพอ ครูควรมีโอกาสเข้ารับการอบรมเพียงพอ มีภาระงานที่เหมาะสม สามารถเพิ่มทักษะตนเองและเตรียมการสอน เตรียมจัดกิจกรรมในห้องเรียนได้อย่างเต็มที่ รัฐบาลควรสนับสนุนทุกจุดที่กล่าวมานี้ ซึ่งผมคิดว่าทุกฝ่ายเห็นตรงกันครับ

มีโรงเรียนเล็ก ๆ ที่สอนหลักสูตรนี้แล้ว ทั้งโรงเรียนชนบท โรงเรียนชายขอบ โรงเรียนสอนชาวไทยพุทธ คริสต์ อิสลาม ฯลฯ มีทั้งโรงเรียนที่สอนเด็กเก่ง เด็กทั่วๆ ไป และเด็กพิเศษ รวมถึงกลุ่ม L.D. (Learning Disabilities) เสียงตอบรับจากทุกโรงเรียนที่สอนคือเด็กสนุกกับวิชานี้ ครูสนุกกับวิชานี้ ปัญหาที่พบที่เป็นปัญหาหลักไม่ใช่เรื่องอุปกรณ์ แต่เป็นเรื่องเวลาที่มีน้อยเกินไป เด็กๆ ชอบกิจกรรม ชอบหนังสือเรียนที่เป็นการ์ตูน “อ่านเพลินจนเกินเวลา เปิดหน้าจนเกินคำสั่งครู” (ครูธิติวัฒน์ ทองคำ จ.เพชรบุรี) บางโรงเรียนก็แจ้งว่าเด็กๆ สนุกกับการทำกิจกรรมที่ไม่ต้องนั่งอยู่กับที่ “เมื่อก่อนขาดแคลนเก้าอี้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีไม่เป็นไร” (ครูก้อย วารุณี บำรุงสวัสดิ์ จ.นครพนม) ในการประชุมพิจารณาร่างหนังสือ คุณครูบางท่านที่สอนนักเรียน L.D. เล่าว่านักเรียนบางคนที่เรียนได้ช้ามากในวิชาอื่น กลับสนุกและสนใจในการทำกิจกรรมวิชานี้เป็นอย่างดี (ครูพิมสาย อัครพิทยาอำพน จ.ขอนแก่น) เด็กบางคนที่ได้เรียนวิชานี้เขียน​บทสะท้อนความคิด (reflection) ว่า “สนุกมาก อยากเรียนไปจนแก่”

ขอยกตัวอย่างโรงเรียน ตชด. ซึ่งเมื่อปลายปีที่แล้ว (พ.ย. 2561) สสวท. เพิ่งอบรมครู ตชด. โรงเรียนโครงการพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ ไป 400 กว่าคน (อ้างอิง: https://youtu.be/XjmL8myTnqE) โดยใช้หนังสือแบบเรียนของ สสวท. #โป้งก้อยอิ่ม มีกิจกรรมทั้งแบบ unplugged และแบบที่ใช้คอมพิวเตอร์ ผ่านโปรแกรม ​Scratch และ Code.org ครูที่เป็นวิทยากรก็คือครูแกนนำที่ผ่านการอบรมจากทาง สสวท. ไปเมื่อปี 2560 หลังจากอบรมได้ 2 เดือน สมเด็จพระเทพฯ ทรงเสด็จเยี่ยม รร. ตชด. ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ จ.สุรินทร์ ทรงทอดพระเนตรการสอนวิทยาการคำนวณ (อ้างอิงข่าวในพระราชสำนัก 29 มกราคม 2562 นาทีที่ 2:37 — https://youtu.be/9MIvr1_3p6A?t=157)

การอบรมครู ตชด. โดย สสวท.
ข่าวในพระราชสำนัก 29 มกราคม 2562

เมื่อ 5 มีนาคม 2562 ผมได้มีโอกาสติดตามท่านอธิการ มจธ. รับเสด็จสมเด็จพระเทพฯ ร่วมกับคณะครูและพระอาจารย์ กลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรมใน จ.ศรีสะเกษ สืบเนื่องจากที่ปีที่แล้ว (ธ.ค. 2561) ทาง สวทช. ร่วมกับ มจธ. ได้ร่วมกันจัดอบรม coding ตามแนวทางหลักสูตรวิทยาการคำนวณให้กับครูผู้สอนสามเณร วิทยากรท่านหนึ่งคือ คุณเมตตา มงคลธีระเดช สอน code.org ให้คุณครูและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยที่วิทยากรเองก็ไม่ได้จบมาทางสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์โดยตรง แต่เป็น graphic designer ขั้นเทพผู้วาดหนังสือแบบเรียน ป.1 เรียกได้ว่า ทำหนังสือเล่มนี้แล้วก็เรียนรู้ไปด้วยกัน เป็นบทพิสูจน์ว่าคุณครูทุกคนสอนได้ ขอเพียงแค่เปิดใจเรียนรู้ครับ

(อ้างอิง ข่าวในพระราชสำนัก 5 มี.ค. 2562 https://youtu.be/3Lw2br-2qGs และ https://www.facebook.com/iammock/posts/10102154607995149)

การอบรมวิทยาการคำนวณ ใน จ.ศรีสะเกษ โดย มจธ. และ สวทช.

วัดกระบี่ ไม่ได้อยู่ จ.กระบี่ แต่อยู่ จ.ศรีสะเกษ​ วันนี้ (5 มี.ค. 2562)…

Posted by Mock Suwannatat on Tuesday, 5 March 2019

เมื่อใดก็ตามที่ผมได้เล่าเรื่องเหล่านี้ให้กลุ่มผู้ปกครองฟัง โดยเฉพาะผู้ปกครองของเด็กในเมือง และแสดงภาพนักเรียนตามจังหวัดต่าง ๆ ภาพพระ เถร เณร ชี ได้เรียนวิชานี้อย่างสนุกสนาน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หลายคนตกใจรีบไปโวยวายที่โรงเรียนใหญ่เลยครับ พ่อแม่ต่างยอมไม่ได้ที่จะให้ลูกตนเองเสียเปรียบคนอื่น รู้สึกว่าแรงขับเคลื่อนจากผู้ปกครอง จะเป็นแรงที่สำคัญมากกว่ากลไกบังคับของ สพฐ เสียอีกครับ จะว่าไปก็เป็นเรื่องที่ดี แต่อยากเสริมนิดหน่อยว่านี่ไม่ใช่เรื่องของการได้เปรียบเสียเปรียบกัน ประเทศของเราจะรอดก็ต่อเมื่อคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นลูกของเราหรือลูกของใคร ได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน

ถ้าเราไม่บรรจุหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรแกนกลาง ไม่มีแบบเรียนมาตรฐานที่มีคุณภาพ นักเรียนที่อยู่ห่างไกล ที่โรงเรียนไม่มีความพร้อมก็จะไม่ได้เรียน และยิ่งเสียเปรียบในชีวิตไปเรื่อย ๆ ในขณะที่โรงเรียนที่ร่ำรวยก็สามารถจัดสอนวิชานี้ได้ พ่อแม่ที่มีเงินก็สามารถส่งลูกไปเรียนตามโรงเรียนกวดวิชา/เสริมทักษะได้ .. ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสอนวิชานี้ในทุกโรงเรียนไม่ว่าที่ใดก็ตาม สอนได้แค่ไหนก็แค่นั้น ถ้ามีปัญหาก็ควรช่วยกันแก้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้ได้มากที่สุด

สุดท้าย สำหรับประเด็นทางการเมือง ข้อนี้ผมไม่หนักใจที่จะตอบเลย เพราะพบแง่มุมที่น่าสนใจจากคำอภิปรายของคุณกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ (อ้างอิง https://www.facebook.com/watch/?v=2455519771359119) พบว่าเขาไม่ได้ต่อต้านแนวคิดของหลักสูตรวิทยาการคำนวณ การอภิปรายถึงความขาดแคลนอุปกรณ์ ขาดแคลนครู ภาระของครู และปัญหาการบรรจุครู ก็เป็นการชี้ถึงปัญหาที่มีอยู่จริง โดยไม่ได้กล่าวว่าปัญหาเหล่านี้เป็นเหตุผลให้ต้องต่อต้านแนวคิดของหลักสูตรวิทยาการคำนวณ เป็นเรื่องน่ายินดียิ่งที่ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลต่างเห็นตรงกันว่าหลักสูตรวิทยาการคำนวณ (ซึ่งบางทีเรียกชื่อเล่นว่า coding) นั้น มีความสำคัญ ต้องช่วยกันฝ่าฝันอุปสรรคต่างๆ ไปให้ได้

หมายเหตุ

  • ร่างคำตอบนี้จัดทำขึ้นเพื่อใช้ประกอบการสนทนากับคุณกล้า สมุทวณิช ในรายการ podcast กล้าคุย https://www.pongkoiim.com/go/?p=371
  • ความคิดเห็นในบทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่ใช่ความคิดเห็นขององค์กรใด