ถอดบทเรียน: กิจกรรม “ร่วมมือร่วมใจ ใช้ coding สู้ Covid-19”

แนวทางการออกแบบกิจกรรม unplugged สำหรับวิทยาการคำนวณ 

กรณีศึกษา กิจกรรม “ร่วมมือร่วมใจ ใช้ coding สู้ Covid-19”

วันนี้น้องๆ นักเรียนประถมศึกษา รวมกับโป้ง ก้อย อิ่ม ตัวละครจากหนังสือเรียนวิทยาการคำนวณ สสวท. ได้สาธิตการนำแนวคิดจากการเรียน coding มาประยุกต์ใช้กับขั้นตอนการทำความสะอาดมือ เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคร้าย

น้องแพรอ่าน flowchart แรก เพื่อตัดสินใจว่าจะทำความสะอาดมือด้วยวิธีใด จากนั้นก็อ่าน flowchart อีกผังหนึ่งที่แสดงขั้นตอนการถูทำความมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ แล้วชวนผู้ใหญ่ทำตามทีละขั้นตอน ระหว่างนั้นนักเรียนอีกคนก็ค่อยๆ กำจัดไวรัสออกจากมือยักษ์จนหมดสิ้น

กิจกรรมง่ายๆ เช่นนี้ มีหลักการที่ซ่อนอยู่ด้านหลังกระบวนการออกแบบให้เราได้ศึกษาอยู่มากมาย วันนี้ขอยกขึ้นมาอธิบาย 3 ข้อ

  • หลักการ #1: ชัดเจน 
  • หลักการ #2: กระชับ
  • หลักการ #3: ปลูกฝังค่านิยมที่ดี

สามข้อนี้เป็นหลักการที่ทีมพัฒนาหนังสือยึดถือมาตลอด ไม่ใช่หลักการตายตัวที่จะต้องทำตามอย่างสุดโต่ง แท้จริงผู้ออกแบบจะต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ถ้ายึดหลักข้อใดมากเกินไปก็อาจส่งผลกระทบกับข้ออื่นได้

ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพดังนี้

หลักการ #1: ชัดเจน 

เราอาจใช้ความสนุกเป็นตัวดึงดูดให้เด็กสนใจกิจกรรมได้ ระหว่างเล่นเด็กอาจจะไม่รู้ตัวทันทีก็ได้ว่ากำลังเรียนเรื่องอะไร แต่สุดท้ายจะต้องมีความชัดเจนว่าสาระการเรียนรู้คืออะไร  เช่นในกิจกรรมนี้สาระหลักคือเรื่อง flowchart  การเขียนอธิบายการทำงานเป็นลำดับขั้นตอนที่ชัดเจนทำให้สื่อความหมายได้ครบถ้วน ถูกต้อง และปฏิบัติตามได้ง่าย ส่วนสาระรองซึ่งน้องแพรได้สรุปตอนท้ายคือรูปแบบของ coding ที่นำมาใช้มีสามแบบ คือ แบบลำดับขั้นตอน (ที่ได้สาธิตผ่านการปฏิบัติจริง) เบบเงื่อนไข (ที่ใช้ตัดสินใจว่าจะล้างด้วยน้ำหรือเจล) และแบบวนซ้ำ (ที่ยกตัวอย่างขั้นตอนการทำความสะอาดนิ้วที่จะต้องวนซ้ำสองรอบ สำหรับมือแต่ละข้าง ผ่านสคริปต์ที่คล้ายกับโปรแกรม Scratch ที่นักเรียนได้เรียนตอน ป.4)  

หลักการ #2:  กระชับ

การทำบทเรียนให้ชัดเจนนั้นง่าย เพียงแค่เขียนเป็นข้อความไปอย่างที่เขียนตำราระดับมหาวิทยาลัย (หรืออย่างบทความนี้เป็นต้น) ก็ชัดเจนแล้ว แต่ เด็กจะไม่อ่าน!  ดังนั้นทุกอย่างจะต้องทำให้ง่ายลง (simplify) ซึ่งบางครั้งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้การอนุมานสิ่งที่เข้าใจตรงกันโดยไม่ได้เขียนไว้ (unwritten assumption) หรือต้องพูดคลุมในเชิงทั่วไปจนกว้างเกินจริงไปนิดหน่อย​ (over generalization) ตรงนี้ต้องทำอย่างมีศิลปะ​! เดินทางสายกลาง ถ้าเขียนสั้นเกินไปก็จะไม่ชัดเจนและเปิดช่องให้เกิดความเข้าใจผิด (misconception) ได้ง่าย  ถ้าอ่านดูใน flowchart จะพบว่าเราพยายามใช้คำแปลที่รวบรัดและน่าจะเข้าใจได้ตรงกันถ้าดูควบคู่กับภาพประกอบ และเราตัดขั้นตอนบางอย่างออกไปเพราะคิดว่าเข้าใจตรงกัน เช่น ขั้นตอนการเปิดประตูห้องน้ำ การเปิดไฟ รวมถึงการตัดสินใจว่าจะใช้วิธีขององค์การอนามัยโลกหรือกรมควบคุมโรค เราก็ตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งให้เลย ทั้งที่จริง หากนักเรียนถามถึงอีกวิธีหนึ่ง เราก็ให้เขาใช้อีกวิธีหนึ่งได้ 

หลักการ #3: ปลูกฝังค่านิยมที่ดี

กิจกรรมในหนังสือ สสวท. จะปลูกฝังค่านิยมที่สร้างสรรค์ เช่น การไม่เสพติดเทคโนโลยี ความภูมิใจในวัฒนธรรมไทย แนวคิดแบบ growth mindset จิตอาสา และความเข้มแข็งของชุมชน ในกรณีนี้เราจะเลือกหัวข้อใดมาสาธิตการทำ flowchart ก็ได้ แต่เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงเลือกแนวทางการป้องกันตนจาก Covid-19 ด้วยการทำความสะอาดมือให้ถูกวิธี เพราะเชื่อว่าค่านิยมในการรักความสะอาดนี้จะเป็นประโยชน์กับนักเรียนไปตลอด แม้จะผ่านพ้นจากสถานการณ์แพร่ระบาดครั้งนี้แล้ว นอกจากนี้ยังเป็นการสอนให้นักเรียนรู้จักใช้วิจารณญาณ ไม่ใช่ว่าหลับหูหลับตาใช้เจลทำความสะอาดมือตามตัวอย่างเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องพิจารณาด้วยว่าขณะนี้เราสามารถล้างมือด้วยน้ำและสบู่ได้หรือไม่ ถ้าได้ก็ควรล้างด้วยน้ำและสบู่เพราะนั่นเป็นทางเลือกที่สะอาดที่สุด แต่ในกรณีนี้เราอยู่ไกลจากอ่างน้ำเราจึงล้างด้วยเจลแอลกอฮอล์ 

เคยมีบางท่านถามผมว่า จริงๆ แล้วควรมีหลักการอีกข้อหนึ่งนั่นคือ “ต้องสนุก” ด้วยหรือไม่? หลักการข้อนี้ควรจะสำคัญที่สุดเลยมิใช่หรือ?​  ผมแทบจะตอบพร้อมกันสองประโยคในคราวเดียวว่า

  • ใช่เลยครับคุณครู! 
  • ข้อนี้รู้กันอยู่แล้ว ไม่ต้องเขียนไว้หรอกครับ เปลืองกระดาษ! 

คำตอบทั้งสองนั้นถูกทั้งคู่ ผมคิดว่า “ความสนุก” เป็นกฎที่ไม่ต้องเขียน (unwritten rule) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับระดับประถมศึกษา ผมเชื่อว่าคุณครูทุกท่านตั้งใจออกแบบกิจกรรมให้สนุกสำหรับนักเรียนอยู่แล้ว ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ได้รับความสนใจ การออกแบบกิจกรรมให้สนุกนั้น สำหรับบางท่านที่มีพรสวรรค์ก็เป็นเรื่องง่าย แต่ในบางครั้งก็ไม่ง่ายเลย ทำอย่างไรกิจกรรมจึงจะสนุก?  ถ้ามีโอกาสวันหลังผมจะมาเล่าให้ฟังโดยจะ “ขอยืม” หลักการของปรมาจารย์ท่านอื่น มาผสมกับประสบการณ์ส่วนตัว แล้วจะเล่าต่อให้ฟังครับ

ผมยินดีที่กิจกรรม “ร่วมมือร่วมใจ ใช้ coding สู้ Covid-19” ในวันนี้ผ่านไปด้วยดี ขอชื่นชมยินดีกับทีมงานของ สสวท. ทุกท่านทั้งทีมผู้บริหาร ทีมนักวิชาการ ทีมกราฟฟิกและการผลิตสื่อ ไปจนถึงทีม “ลูกๆ” ของชาว สสวท. ที่ช่วยกัน “ใช้ความน่ารัก สยบโคโรน่าไวรัส” ในวันนี้ และถ่ายทอดหลักการคิดแบบ coding ได้อย่างฉะฉาน ชัดเจนเป็นอย่างยิ่งครับ

ขอบคุณผู้หลักผู้ใหญ่ และประชาชนทุกคน ที่ส่งเสริมนโยบายนี้ครับ 

ผนวกเดช สุวรรณทัต

10 มีนาคม 2563 

Links:

(คลิป)#คุณหญิงโค้ดดิ้ง #ครูกัลยา สสวท.และเด็กๆ โชว์ทักษะCoding พร้อมท่านนายกฯ ผ่านขั้นตอนการล้างมือเเบบมาตรฐานสาธารณสุข สู้ Covid💛💙ศธ.โชว์นิทรรศการ “ใช้โค้ดดิ้ง สู้โควิด” ชวนคนไทยเข้าใจขั้นตอน ปฏิบัติตามมาตรการรัฐอย่างถูกต้อง ปลูกฝังการคิดอย่างมีวิจารณญาณ พร้อมเผชิญทุกสถานการณ์ท้าทายไปด้วยกันดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวขอบคุณ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนการสอนเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากของประชาชนในวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 2019 เพราะการเข้าใจหลักคิดของโค้ดดิ้ง เป็นการสร้างความเข้าใจเรื่องการคิดอย่างเป็นขั้นตอน เป็นระบบ เป็นเหตุเป็นผล ซึ่งทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารต้องมีพื้นฐานเดียวกัน เข้าใจกระบวนการให้ถูกต้องเหมือนกัน โดยในปัจจุบันมีมาตรการออกมาจำนวนมาก หากไม่เข้าใจกันจะทำให้ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ไม่ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังไว้ นอกจากนี้การเรียนรู้โค้ดดิ้งยังช่วยให้เราใช้ชีวิตอย่างมีสติ คิดอย่างมีวิจารณญาณ ไม่ตระหนกต่อข้อมูลที่บิดเบือน และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีสงบสุข#คุณหญิงโค้ดดิ้ง#ครูกัลยา#คณะกรรมการCodingแห่งชาติ

Posted by คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช on Monday, 9 March 2020